ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้พืชหอมในตำรับยาหอม ยาลม
ยาหอมในบัญชียาหลัก ยาสามัญประจำบันแผนโบราณ พืชหอมล้านนา ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง
และผลิตภัณฑ์สปาจากพืชหอมไทย โดยผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้กระบวนการในการผลิต
การควบคุมคุณภาพ ของผลิตภัณฑ์จากพืชหอม และจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยด้วยยาแผนไทย นอกจากนี้
ยังเป็นการส่งเสริมเครือข่ายชุมชน,รพ.สต.,อสม.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมสุขภาพ และการพึ่งตนเองระดับชุมชน
ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระแสของการใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองของประชากรไทยมีมากขึ้น ทำให้สมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยรวมถึงการแพทย์พื้นบ้านกลับมาเป็นที่สนใจของคนไทย
เนื่องจากความหวั่นเกรงถึงผลข้างเคียงของการใช้ผลิตภัณฑ์จากสารเคมี และผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง
ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึง ประกอบกับพื้นฐานของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านมาจากหลักความเชื่อ
ทางศาสนาผสมกลมกลืนกับการดูแลตนเองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้มีผลการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ทำให้ชุมชนมีการส่งเสริมการใช้และการผลิตสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอย่างมากมายทั้งสมุนไพรเดี่ยว
และสมุนไพรตำรับ เพื่อรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ซึ่งที่จริงแล้วพืชหอมเป็นสมุนไพรกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์ของพืชหอมและน้ำมันหอมระเหยมาตั้งแต่ยุคโบราณ
โดยใช้เป็นเครื่องหอม น้ำหอม เครื่องสำอาง ปรุงอาหาร รวมทั้งเป็นยารักษาโรค ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
และสมุนไพรในระบบสุขภาพแห่งชาติ ยาแผนไทยดั้งเดิมและยาที่พัฒนาจากสมุนไพรที่มีการพัฒนารูปแบบ
ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ในสถานพยาบาลทุกระดับ และในงานสาธารณสุขมูลฐาน
ในตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณหลาย ๆ ตำรับ โดยเฉพาะในกลุ่ม ยาหอม ยาธาตุ มีสมุนไพรในกลุ่มพืชหอมเป็นองค์ประกอบหลัก
นอกจากนี้พืชหอมยังมีบทบาทในชีวิตประจำวันในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง ผลิตภัณฑ์เพื่อคลายความเครียด
อีกทั้งตำรับยาไทยหรือตำรับยาพื้นบ้านนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ปัจจุบันนับวันจะสูญหายไปเรื่อย ๆ
เนื่องจากผู้ใช้ขาดความเชื่อมั่นเพราะยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการเลือกใช้ ตลอดจนไม่แน่ใจในแหล่งที่มา กระบวนการผลิต
ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ตำรับยาไทยจากภูมิปัญญานั้นใช้ได้ผลในการรักษา
ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกของการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของประชากรไทย โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล
และกลุ่มผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในการดูแลรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในกลุ่มอื่นที่มีแพร่หลายในท้องตลาดปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งยังพบปัญหาในเรื่องคุณภาพ
การอบรมในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ ได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
มาเป็นประธานในพิธี ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านสมุนไพรล้านาพัฒนาร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนโดยตลอดมา
เพื่อให้การอบรมเป็นกระบวนการเรียนรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย จึงจะมีการให้ความรู้เรื่อง ผลิตภัณฑ์ยาหอม
เลือกซื้อเลือกใช้อย่างไร ให้ได้คุณภาพ และมีความปลอดภัย โดย ภก.พิสณฑ์ ศรีบัณฑิต และ ภก.พลแก้ว วัชรชัยสุรพล
และรับฟังประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยด้วยยาแผนไทย โดย นพ.วีรพัฒน์ เงาธรรมทัศน์
ส่วนการฝึกปฏิบัติจะประกอบด้วยหลักสูตรเบื้องต้น 5 เรื่องคือ (1) พืชหอมในบัญชียาหลักสมุนไพรในยาหอมนวโกฐ
และวิธีการเลือกยาหอมที่มีคุณภาพ โดยวิทยากร รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด (2) พืชหอมไล่แมลงและผลิตภัณฑ์
โดยการฝึกปฏิบัติทำสเปรย์ , ยาหม่องตะไคร้ต้น , สมุนไพรไล่แมลงรวมทั้งศึกษาชนิดของพืชไล่แมลง
โดยวิทยากร รศ.ภก.ปราโมทย์ ทิพย์ดวงตา (3) สปาในบ้านด้วยพืชหอมไทย
โดยการฝึกปฏิบัติทำสมุนไพรแช่เท้า , สมุนไพรอาบ/อบ , ยาดมสมุนไพร , น้ำมันนวดไพลโดยวิทยากร ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว (4)
มาตรฐานการเตรียมสมุนไพร ,การเตรียมยาธาตุบรรจบการศึกษายาสามัญแผนโบราณ และเตรียมน้ำกระสายยาที่เหมาะกับการใช้ยาแต่ละชนิด
โดยวิทยาการอ.ชัยยง ธรรมรัตน์ และ(5) การเตรียมยาลมพื้นบ้านล้านนา และพืชหอมล้านนา โดยวิทยากร พ่อหมออินสม สิทธิตัน
|