นอกจากน้ำมันตะไคร้หอมแล้ว พืชสมุนไพรไทยที่มีข้อมูลในการไล่ยุงได้ดีอีกชนิดหนึ่ง คือ น้ำมันตะไคร้ ( lemon grass oil) ซึ่งพบว่าในการทดสอบกับยุงลายบ้าน ( Aedes aegypti L.) ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสารละลาย 1 % และรูปแบบครีมและขี้ผึ้ง 15 % v/w มีประสิทธิภาพในการไล่ยุง 2-3 ชั่วโมง แม้ว่าน้ำมันตะไคร้ให้กลิ่นที่เป็นที่ยอมรับแต่ปริมาณผลผลิต ( % yield) ที่ได้มีปริมาณที่ต่ำ โดยอยู่ในช่วง 0.25-0.50 %
ทีมวิจัยเห็นว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายของพรรณพืช มีน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรไทยหลายชนิดที่มีรายงานและมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ยุง จึงให้ความสนใจ “ตะไคร้ต้น” ซึ่งเป็นพืชที่พบมากในท้องถิ่น มีองค์ประกอบทางเคมีที่ใกล้เคียงกับตะไคร้ และเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหยที่สูงถึง 3-5 %
น้ำมันตะไคร้ต้น เมื่อนำมาเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ในความเข้มข้น 15 % สามารถให้ผลในการไล่ยุง Cx. Quinquefasciatus ได้ 48.1 - 76.2 % ขณะที่ให้ผลในการไล่ยุง Ae. Aegypti ได้ 20.5 - 28.9 % ซึ่งให้ผลดีพอ ๆ กับน้ำมันตะไคร้หอม แต่เป็นที่พึงพอใจมากกว่าเนื่องจากกลิ่นที่ดี ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ให้เป็นทางเลือกหนึ่งกับผู้บริโภคในการเลือกใช้ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการไล่ยุงด้วยการใช้ร่วมกับน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค
ตะไคร้ต้น มีชื่อสามัญ คือ ตะไคร้ต้น จะไคร้ต้น ตะไคร้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Litsea cubeba (Lour.) Pers. วงศ์ LAURACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็น ต้นไม้ สูงถึง 10 เมตร ผลัดใบและกึ่งผลัดใบ ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ เมื่อขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นเหมือนตะไคร้บ้าน ส่วนดอก ออกเป็นช่อกลมที่ซอกใบ เป็นกระจุกแน่น แต่ละช่อมี 4-6 ผลสด มีรูปทรงกลมสีเขียว ส่วนที่มีน้ำมันคือที่เปลือกผล ซึ่งจะมีต่อมน้ำมัน เมื่อผลสุกหรือผลแห้งจะเป็นสีดำ
จะพบตะไคร้ต้นในแถบพื้นที่ป่า บนที่สูงของป่าดงดิบ ใกล้ห้วย หรือริมลำธาร ซึ่งชาวบ้านบนดอยหรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายป่านิยมนำมาเป็นอาหาร เป็นเครื่องเทศประจำบ้าน ซึ่งในการศึกษานี้เก็บตะไคร้ต้นจากป่าชุมชนในอำเภอเวียงแหง จ.เชียงใหม่
ทีมวิจัยได้นำผลตะไคร้ต้นสด ไปกลั่นน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ น้ำมันหอมระเหยที่ได้นำมาเตรียมเป็นสารละลายความเข้มข้น 5, 15 และ 20 % ในน้ำมันแร่ แล้วนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันยุง พบว่าน้ำมันตะไคร้ต้นที่ความเข้มข้น 15 % มีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาในการป้องกันยุงกัดนานที่สุดคือ 4.75 ชั่วโมง รองลงมาคือน้ำมันตะไคร้ต้นความเข้มข้น 5 % มีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาในการป้องกันยุงกัดเท่ากับ 4.37 ชั่วโมง
|