เริ่มจากอาหารใส่บาตร ทุกวันนี้ มีอะไรบ้าง ลองยกตัวอย่าง เมนูหน้าตลาดซึ่งเป็นอาหารที่ขายให้เราไปตักบาตรกัน ก็มีข้าวขาวใส่ถุง มีต้มแตงกวา ผัดวุ้นเส้นใส่กะหล่ำปลี น้ำขวดสีส้มสีแดง บะหมี่สำเร็จรูป บางเจ้าก็มีการเปลี่ยนเมนูบ้าง แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือ น้ำส้มสีสด ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ว่า “ ของใส่บาตรพระ ”
ส่วนอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ซื้อมาถวายพระหรือใส่บาตรพระ ก็จะเป็นกลุ่มของทอด แกงหมูแกงเนื้อ ขนม นม น้ำ น้ำอัดลม น้ำหวานสารพัดสี นมเปรี้ยว เครื่องดื่มชูกำลัง ผลไม้ สำหรับเมนูประเภทผัก ไม่ค่อยนิยม อาจเพราะค่านิยมที่ดูเป็น ” ผัก ” และก็ไม่ค่อยมีแกงผักขาย ของดีที่เรามาถวายพระ จึงเป็นอาหาร ที่อุดมด้วย หวาน มัน เค็ม แต่งสี ปรุงรส ส่วนน้ำปานะก็เป็นน้ำอัดลม น้ำสารพัดสี
แม้จะมีการรณรงค์มาก เกี่ยวกับอาหารถวายพระ อาหารใส่บาตร แต่ก็ดูเหมือนไม่ค่อยได้ผล เพราะต่างคนต่างทำบุญ เรามักไม่ทักท้วงกัน พระ-เณรก็ไปตามกระแสสังคม ท่านก็ฉันตามญาติโยมถวาย ประกอบกับกิจวัตรที่ไม่ได้ออกกำลังกาย และ ความเข้าใจหรือความตระหนักของพระ-เณรต่อสุขภาพยังน้อย มีข้อจำกัดมาก จึงเป็นสาเหตุของสุขภาพ นอกจากอาหารหวานมันเค็มมากแล้ว บางโอกาสยังฉันอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารบูดด้วย
สำหรับการถวายยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ นั้น จะมีประโยชน์มากขึ้น หากได้หาข้อมูลจากวัดก่อน เช่น บางวัด ต้องการยาสามัญประจำบ้าน มาประจำวัด เพราะบางวัดมีเณรมาก ก็จะมีการจัดการภายในวัด ซึ่งก็จะมี อสม.หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล มาช่วยจัดการ หรือบางวัดก็จะเป็นศูนย์สุขภาพของชุมชน ก็มีการจัดการที่หนุนเกื้อกัน แต่สำหรับพระสงฆ์ที่อาพาธ การได้รับถวายยา ก่อนฉัน ควรปรึกษาหมอที่รักษาด้วยเพื่อให้การฉันยาถูกต้องถูกโรค สำหรับสังฆทานยาที่นิยมกันมากขึ้น ควรศึกษาและอ่านฉลากยาก่อน ระวังยาหมดอายุ หรือยาที่เก็บไม่เหมาะสม เพราะยาบางชนิดไวต่อแสง หรืออุณหภูมิ
จากข้อมูลของ กรมอนามัย ได้ศึกษาสุขภาพพระสงฆ์ ในระหว่าง 2553 - 2554 มีพระภิกษุ สามเณร จำนวน 98,561 รูป หรือประมาณร้อยละ 30 พบว่า สุขภาพปกติร้อยละ 55 เสี่ยงป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ประมาณร้อยละ 40 และมีพระภิกษุอยู่ในภาวะอ้วนรวม 5,381 รูป หรือร้อยละ 5
จึงมีโครงการเกี่ยวกับสุขภาพพระสงฆ์มากมาย จากหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งองค์กรส่วนท้องถิ่นบางแห่ง มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างดีที่จะสร้างความเข้าใจและเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านและพระสงฆ์พร้อมกันต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น
ขอเชิญชวนชาวพุทธ ทำบุญตักบาตร ถวายอาหาร ถวายสิ่งของ ด้วยความพิถีพิถัน คำนึงถึงประโยชน์ หยุดค่านิยมผิดๆในการทำบุญ
พร้อมกันนี้ ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า จะเป็นสองด้านที่ส่งผลถึงกัน หากพระเทศน์ คำสอนเกี่ยวกับการบริโภคเชิงพุทธที่ต้องคำนึงหลักประโยชน์ คุณค่า ความพอดี ไม่กินมากไม่กินน้อยไป กินเป็นเวลา กินอย่างเหมาะสม คัดเลือกชนิดของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดกลุ่มอาหารทอด อาหารมัน อาหารหวาน อาหารสำเร็จรูป เพิ่มสัดส่วนอาหารสดใหม่ ผักพื้นบ้าน ปลอดภัยจากสารเคมี ก็เป็นการให้ความรู้ต่อชาวบ้าน |