เปิดโลกเขียวมะกอก
|
|
 |
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เครื่องเทศ มีความหมายถึงของหอมฉุนและเผ็ดร้อนที่ได้มาจากต้นไม้ สำหรับใช้ทำยาไทย และปรุงอาหาร โดยมากมาจากต่างประเทศ เช่นลูกผักชี ยี่หร่า สำหรับการใช้ในส่วนผสมยาไทย และ ยาล้านนา ที่มีเครื่องเทศ เป็นส่วนผสมมักพบในยาที่มีสรรพคุณบำรุงธาตุ ยาขับลมในลำไส้ และยาอายุวัฒนะ หากยังนึกเครื่องเทศยาไทยไม่ออก ขอยกตังอย่างเครื่องเทศ ๙ ชนิดที่มีการนำไปใช้ประโยชน์มากได้แก่
๑ เมล็ดพริกไทย รสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ลม แก้เสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และขับผายลม
๒ เหง้าขิงแห้ง รสหวานเผ็ดร้อน สรรพคุณเจริญอากาศธาตุ แก้ลมพานไส้ แก้พรรดึก แก้แน่นหน้าอก แก้เสียดแทง แก้นอนไม่หลับ
๓ กานพลู รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ ทำให้อาหารงวด กระจายเสมหะ และโลหิต แก้เสมหะเหนียว และ แก้ปวดฟันแก้รำมะนาด และ แก้ปวดท้อง แก้พิษเลือด
๔ ใบกระเพราขาว รสร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด ขับลมในลำไส้
๕ ลูกกระวาน รสร้อนหอม สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม ขับเสมหะ โลหิต และ ลม
๖ หัวกระเทียม รสร้อนฉุน สรรพคุณ ระบาย แก้ริดสีดวงงอก บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้โรคผิวหนัง แก้กระหายน้ำ แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต
๗ ลูกจันทน์เทศ รสร้อนหอมติดจะฝาด สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้จุกเสียด แก้กำเดา แก้ท้องร่วง แก้กระหาย แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต
๘ เปลือกอบเชย รสเผ็ดหวานร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม บำรุงโลหิต แก้อ่อนเพลีย
๙ ดอกดีปลี รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุดินทั้ง ๒๐ ประการ ขับลมในลำไส้ และเจริญอาหาร
๑๐ เถาสะค้าน เป็นยารสร้อน สรรพคุณ ขับลมบำรุงธาตุ ขับลมให้ผายและเรอ แก้จุกเสียด แก้ธาตุพิการ แก้แน่น เป็นตัวยาประจำธาตุลม
|
|
 |
|
จากตัวอย่าง พบว่า กลุ่มเครื่องเทศ ดังกล่าวมา จะเป็นยารสร้อนทั้งหมด ช่วยเพิ่มไฟธาตุ มีสรรพคุณหลักคือ ขับลม ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการโดยตัวยาประจำธาตุลม ได้แก่เถาสะค้าน ประจำอากาศธาตุคือ ขิงแห้ง ประจำธาตุดินคือดอกดีปลี โดยมีสรรพคุณทางด้านธาตุลมเป็นหลัก และด้านธาตุน้ำเป็นรอง
เราสามารถปรุงยาเครื่องเทศเป็นยาธาตุประจำบ้านโดยใช้แก้ธาตุไม่ปกติ ท้องเสีย โดยประกอบกับตัวยาอื่นๆ นานาชนิดดังในสูตรตำรับยาธาตุบรรจบคือ ขิง โกฏเขมา โกฏพุงปลา โกฏเชียง โกฏสอ เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนแดง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู การบูร เปลือกสมุลแว้ง ลูกกระวาน ลูกผักชีลา ใบพิมเสน ดีปลี เปราะหอม หนักสิ่งละ ๔ ส่วน โกฏก้านพร้าว หนัก ๘ ส่วน เนื้อลูกสมอไทยหนัก ๑๖ ส่วน น้ำประสานทองสะตุหนัก ๑ ส่วน ทั้งนี้ ส่วน อาจใช้แทนด้วยน้ำหนักส่วนละ ๑๕ กรัม ทำเป็นผง และปั้นเป็นลูกกลอน โดยตำรับยาเป็นยารสร้อน เพิ่มไฟธาตุ ทำให้ขบวนการย่อยอาหารดีขึ้น พวกโกฏ และเทียน นอกจากมีสรรพคุณเป็นตัวยาช่วย ขับลม และทำให้จิตใจดี ยังเป็นยาแต่งกลิ่นให้น่ารับประทานขึ้น
นับว่ายาไทย เป็นภูมิปัญญาของคนไทยแต่โบราณกาล เป็นมรดกของชาติ สมควรสืบทอด รักษา ด้วยวิธีการส่งเสริม รณรงค์ให้ใช้ยาไทยรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อย ๆ และ บำรุงรักษาธาตุประจำกาย ให้มีอายุยืน และ แข็งแรงเป็นพลังแก่แผ่นดินด้วยกันเถอะ
|
|
|
|
: บทความ :
รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด
|
: ภาพประกอบโดย : สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์ |
:หมายเหตุ : ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่ 4 กย. 56..คอลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า ๕ |
--------------------------------------------------------------------------------- |
เปิดโลกเขียวมะกอก
|
เปิดโลกเขียวมะกอก
|