เปิดโลกเขียวมะกอก
|
เภสัช มช. เปิดร้านยาสมุนไพร
พร้อมรับมือตลาดสมุนไพรอาเซียน
|
 |
สมุนไพรพื้นบ้านไทย จะสามารถสู่ตลาดอาเซียนได้อย่างไร นี่คือแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ด้วยหลักการคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ซึ่งศูนย์วิจัยสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการและเครือข่ายหมอพื้นบ้าน เปิดร้านยาสมุนไพร “หอมไกล” หวังสู้กับตลาดสมุนไพรอาเซียนในอนาคต
ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว หัวหน้าศูนย์วิจัยสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า การเปิดร้านยาสมุนไพร “หอมไกล” ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของคณะเภสัชศาสตร์ ที่เสริมบทบาทร่วมกับชุมชน ที่จะเป็นมากกว่าร้านสมุนไพรทั่วไป เป็นการยกระดับด้านข้อมูลข่าวสารด้วย เนื่องจากแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่ครบวงจรยังมีอยู่น้อย หรือมีอยู่ในที่ไม่สะดวกต่อการเข้าศึกษา ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากงบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปี พ.ศ. 2555 จึงได้จัดตั้งร้านขายยาสมุนไพรต้นแบบ ภายใต้ชื่อ ร้านขายยาสมุนไพรหอมไกล ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการที่จะทำให้ผู้บริโภคได้มีความรู้ ความเข้าใจ สร้างทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสมุนไพร สามารถเลือกใช้เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพ และทำให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง |
|
|
|
|
|
ร้านขายยาสมุนไพรหอมไกล จะเป็นทั้งแหล่งจำหน่ายสมุนไพร รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ได้คุณภาพ มีมาตรฐาน และเป็นศูนย์เสริมข้อมูลความรู้ เกี่ยวกับสมุนไพร ให้กับหมอพื้นบ้าน ผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและโรงพยาบาล ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์จำหน่าย แยกเป็น 4 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่ 1 เครื่องยาสมุนไพร ที่มีการประเมินคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยให้ความสำคัญกับวัตถุดิบสมุนไพรที่มีการผลิตในภูมิภาค ภายใต้การปลูกตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต และการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรตามที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติ กลุ่มที่ 3 ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่ม วัตถุดิบที่เป็นสมุนไพร และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ทั้งในด้านยา,ยาแผนโบราณ, ยาพื้นบ้าน,ยาแผนโบราณในบัญชียาหลัก เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ
|
|
|
|
|
ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ ได้กล่าวถึงประเด็นความสำคัญของการเปิดร้านสมุนไพรว่า แต่เดิมในพื้นที่ภาคเหนือ หมอพื้นบ้านและผู้ประกอบการโรงงานยาสมุนไพรหรือผู้ที่สนใจในการดูแลสุขภาพด้วยองค์ความรู้ดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะพึ่งพาร้านขายยาสมุนไพรและยาแผนโบราณในการจัดหาเครื่องยาสมุนไพร หลายชนิดที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น กานพลู จันทน์แปดกลีบ ยี่หร่า อบเชย สำหรับการคัดเลือกวัตถุดิบสมุนไพรของร้านขายยาสมุนไพรและยาแผนโบราณนั้น จะใช้วิธีการควบคุมคุณภาพตามภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา ซึ่งส่วนใหญ่เน้นในเรื่องของความถูกต้องของชนิดพืช ขนาด อายุพืช โดยอาศัยประสาทสัมผัสของหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ แต่สำหรับประชาชนทั่วไป อาจไม่มีความรู้เพียงพอ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่น สมุนไพรบางชนิดหากรับประทานติดต่อกันนานๆ อาจก่อเกิดอาการข้างเคียง หรือส่งผลเสียต่อการรักษาโรค
|
นอกจากนี้ กระแสการดูแลสุขภาพได้ก้าวเข้าสู่ยุคของทางเลือก ประกอบกับ กระแสมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งข่าว สื่อโฆษณา หรือบอกต่อกันมา ทำให้เกิดช่องว่างของความรู้ ความเข้าใจของผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งปกติไม่ได้รับยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบัน (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน รับประทานยารักษาเบาหวาน และใช้สมุนไพรที่ให้ฤทธิ์ลดน้ำตาล เช่น มะระหรืออบเชย ร่วมด้วย) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสมุนไพรกับยา สามารถเกิดปฏิกิริยาต่อกัน อันอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นคุณภาพของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ในบางเรื่องไม่สามารถประเมินด้วยประสาทสัมผัสแต่เพียงอย่างเดียว เช่น การปนเปื้อนโลหะหนัก ซึ่งมักมาจากแหล่งดินที่มีการสะสมของโลหะหนักอยู่แล้ว โดยเฉพาะแคดเมียมที่เป็นปัญหาที่พบบ่อย สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นปัญหาต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่าง ๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงค์โปร์ เช่น กลุ่มยาและอาหารเสริมสมุนไพร ซึ่งมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีสูงกว่าประเทศไทย และมีความได้เปรียบทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพ
ซึ่งการประชุม Asean economic community หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้กล่าวถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการตั้งเกณฑ์กลางร่วมกัน หากในกลุ่มผู้ผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะหมอพื้นบ้านไม่มีการติดตามข้อมูลเหล่านี้ อาจทำให้ขาดความเข้าใจ จะส่งผลถึงการอนุรักษ์ตำรับยาพื้นบ้านและสมุนไพรพื้นบ้าน ที่จะสูญหายไปเนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนนั้น เป็นพื้นที่ที่ยังคงมีอยู่ซึ่งภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและตำรับยาสมุนไพรอันทรงค่า ประกอบกับได้มีการส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาจากหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่การนำภูมิปัญญาเหล่านั้นมาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร ดังนั้น การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เช่น การส่งเสริมมาตรฐานการผลิต การบรรจุ และมาตรฐานสมุนไพรระดับต่างๆ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาพื้นบ้านได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์วิจัยสมุนไพร ก็ได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ จัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเภสัชกรรมเพื่อการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้มาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีกลุ่มเกษตรกรสามารถเพาะปลูกสมุนไพรที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการหลายราย ก็สามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และขอขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ตามหลักการคุ้มครองผู้บริโภค
|
 |
|
|
|
“การเปิดร้านสมุนไพรหอมไกล สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มหมอเมือง กลุ่มปลูกสมุนไพร กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มองค์กรด้านสุขภาพ กลุ่มโรงพยาบาลและเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม บุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นการดำเนินการของร้านขายยาสมุนไพรหอมไกล จึงเป็นเสมือนศูนย์กลางการเรียนรู้ทั้งของผู้บริโภค,ผู้ประกอบการ,เกษตรกรและบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยรูปแบบการสื่อสารสองทาง เพื่อแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมข้อมูล ในการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกวิธี ถูกต้องหลักการการแพทย์พื้นบ้าน ผสมผสานกับการแพทย์ทางเลือกและการรักษาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้เสียงสะท้อนของเครือข่ายต่างๆก็จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการขยายผลต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร มากยิ่งขึ้น”
“ร้านสมุนไพรหอมไกล ตั้งอยู่ในอาคาร เฉลิมพระเกียรติ คณะเภสัชศาสตร์ เปิดทำการทุกวันในเวลาราชการ นอกจากการจำหน่ายและให้คำปรึกษาแล้ว เรายังเชิญอาจารย์เภสัชกร หรือครูแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน หมุนเวียนกันมาให้ความรู้ รวมทั้งให้คำแนะนำด้านสุขภาพ หากต้องการรายละเอียดหรือสอบถามร้านยาสมุนไพรหอมไกล สามารถติดต่อได้ที่ 0818824866 ค่ะ” ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ กล่าวทิ้งท้าย
|
|
|
|
: บทความ :
สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์
|
: วิทยากร : ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว |
: เรียบเรียง : สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์ |
: ภาพประกอบโดย : กนกลักษณ์ เบญจสุวรรณ์ |
--------------------------------------------------------------------------------- |
เปิดโลกเขียวมะกอก
|
เปิดโลกเขียวมะกอก
|